ตาต้ามอเตอร์ บริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย ประกาศผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานลมในการขับเคลื่อน โดยจะทยอยนำส่งเข้าสู่โชว์รูมในปี พ.ศ. 2552 รถยนต์พลังลม หรือ AirCar นี้ ใช้การปล่อยอากาศจากระบบบีบอัดอากาศด้วยความดันสูง โดยอากาศที่ปล่อยออกมาจะทำหน้าที่หมุนเพลา ทำให้รถเคลื่อนที่ไปได้ โดยการเติมอากาศ สามารถเติมได้ตามสถานีอัดอากาศด้วยราคาไม่แพง โดยความเร็วสูงสุดที่ทำได้อยู่ที่ประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถวิ่งได้ประมาณ 200กิโลเมตรต่อการเติมอากาศหนึ่งครั้ง บริษัทผู้ออกแบบรถยนต์พลังลมคันนี้ คือ บริษัท MDI จากประเทศลักเซมเบิร์ก ซึ่งให้สิทธิบัตรแก่ตาต้าในการผลิตรถยนต์พลังลมในประเทศอินเดีย โมเดลแรกของตาต้า CityCAT ตั้งราคาไว้ประมาณ 400,000 บาท โดยตาต้าหวังไว้ว่าจุดเด่นของ CityCAT ที่ไม่มีการปล่อยมลพิษทางอากาศ และราคาไม่แพง จะทำให้รถพลังลมรุ่นแรกนี้ จะทำยอดขายได้ดีในตลาดอินเดีย
เคย มีผลงานวิจัย หรือจะเรียกว่าพยากรณ์ก็ได้ ว่าอีก 50 ปีข้างหน้า น้ำมันจะถูกขุดขึ้นมาใช้และหมดไป เรื่องดังกล่าว ไม่มีใครทราบว่าจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ก็สร้างกระแส ตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ หรือตามหลักการตลาดทั่วไป เมื่อสินค้าใดมีอยู่จำกัด แต่มีความต้องการสูงในตลาด ราคามันก็สูงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่มาของการเก็งกำไร ของพวกกองทุนต่างๆ ด้านกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปค ก็เมินที่จะเพิ่มกำลังผลิต ทำให้ประเทศที่ผลิตน้ำมันได้น้อย และไม่มีการผลิต ต้องหาซื้อมาใช้อย่างเดียว เดือดร้อนกันถ้วนหน้า กรณีดังกล่าวรวมพี่ไทยด้วย ก่อให้เกิดกระแสการใช้พลังงานทดแทนกันทั่วโลก มีนวัตกรรมยานยนต์รูปแบบใหม่ เกิดขึ้น เช่น รถที่ใช้พลังงานน้ำมันที่ผลิตจากพืช เช่น เอทานอล ที่ใช้ผสมน้ำมันก๊าซโซฮออล์ หรือไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งไทยก็ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งรถพลังงานไฟฟ้า รถพลังงานไนโตเจน รถพลังงานแสงอาทิตย์ จนถึงรถพลังงานลม ซึ่งแต่ละชนิด ก็ยังมีข้อดี และข้อจำกัดแตกต่างกันไป
สุดท้ายต้องบอกว่า ยังไม่รู้ว่าสมรรถนะของรถพลังงานลมจะเป็นอย่างไร เพราะยังไม่ได้ทดสอบ แต่เรื่องนี้ก็จุดประกายให้ทุกคนคิดเรื่องพลังงานใหม่ ทุกวันนี้ เราหนีการซื้อพลังงานน้ำมันที่เขาขายให้ราคาแพง ไปหาพลังงานอื่นๆ ทั้งก๊าซธรรมชาติ ที่ก็เป็นพลังงานใช้หมดไปเช่นกัน ส่วนเอทานอล หรือไบโอดีเซล ก็มีข้อจำกัด หากความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นมาก ทำให้เราต้องเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชน้ำมันมากเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายก็มีข้อจำกัด เพราะจะไปเบียดเบียนการปลูกพืชเพื่อใช้บริโภคของมนุษย์ ดังนั้นพลังงานลมอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในอนาคตก็ได้