ถ้าจะเจาะลึกเอาทุกส่วนเลยก็คงอ่านกันงงแน่ๆ ฉนั้นผมคงเอาเฉพาะส่วนที่คิดว่าสำคัญๆมาเขียนให้อ่านกันแบบพอเข้าใจละกันนะครับ 1. ฝาสูบ ( CYLINDER ) เป็นชิ้นส่วนที่ติดตั้งอยู่บนเสื้อสูบ ทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของห้องเผาไหม้ และมีอุปกรณ์ลิ้นปิด-เปิดบนฝาสูบ และยังมีช่องหัวเทียน ดังนั้นฝาสูบจึงต้องมีความแข็งแรง และทนต่ออุณหภูมิจากการทำงานของเครื่องยนต์ได้ ด้วยเหตุนี้ฝาสูบจึงทำมาจากเหล็กหล่อหรือโลหะผสมอลูมิเนียม แต่ระยะหลังได้หันมาใช้อลูมิเนียมมากขึ้นเนื่องจากมีนํ้าหนักเบาและยังระบายความร้อนได้ดีอีกด้วย 2. เสื้อสูบ ( CYLINDER BLOCK ) เสื้อสูบเป็นชิ้นส่วนที่ใหญ่และมีนํ้าหนักมากที่สุด เป็นที่ติดตั้งชิ้นส่วนต่างๆ ชิ้นส่วนที่ติดกับเสื้อสูบได้แก่กระบอกสูบหลาย ๆ ชุด ซึ่งมีลูกสูบเคลื่อนที่ขึ้นและลงอยู่ภายใน เพลาข้อเหวี่ยง เพลาลูกเบี้ยว วาล์ว จานจ่าย เป็นต้น ลักษณะของเสื้อสูบที่เรามักพบเห็นกันบ่อยก็จะมีทั้ง แบบตัววี หรือแบบแถวเรียง |
3. ลูกสูบ ( PISTON ) เป็นชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวขึ้น-ลง อยู่ในกระบอกสูบ ลูกสูบนั้นจะต้องมีความแข็งแรงพอที่จะรับแรงกดดันและความร้อนที่เกิดขึ้นในห้องเผาไหม้ได้ หน้าที่ของลูกสูบก็คือ รับแรงกดดันจากการเผาไหม้และส่งกำลังนี้ไปสู่เพลาข้อเหวี่ยงโดยผ่านก้านสูบ โดยปกติแล้วลูกสูบนั้นจะทำมาจากโลหะผสมอลูมิเนียม 4. แหวนลูกสูบ ( PISTON RING ) แหวนลูกสูบนั้นเป็นตัวป้องกันไม่ให้กำลังอัดรั่ว ซึ่งสามารถแบ่งออกมาได้ 2ชนิด คือ - แหวนอัด ( COMPRESSION ) ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้กำลังอัดรั่วผ่านช่องว่างรอบๆลูกสูบ - แหวนน้ำมัน ( OIL RING ) ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณนํ้ามันที่หล่อเลี้ยงลูกสูบกับกระบอกสูบให้อยู่ในปริมาณที่พอดี 5. ก้านสูบ ( CONNECTING ROD ) ก้านสูบนั้นจะทำด้วยเหล็กผสมหรือเหล็กหล่อเหนียว หรือ อลูมิเนียมผสม เพื่อให้แข็งแรงไม่ยืดหดตัว นํ้าหนักเบา ก้านสูบนั้นจะทำหน้าที่ต่อลูกสูบกับเพลาข้อเหวี่ยง โดยที่ปลายด้านเล็กนั้นจะยึดติดกับสลักลูกสูบ และปลายด้านใหญ่จะยึดติดกับเพลาข้อเหวี่ยง และจะถ่ายทอดกำลังไปสู่เพลาข้อเหวี่ยง 6. เพลาข้อเหวี่ยง ( CRANKSHAFT ) เพลาข้อเหวี่ยงเป็นชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหว โดยรับพลังงานมาจากห้องเผาไหม้ ซึ่งเปลี่ยนจากการขึ้น-ลง ของลูกสูบมาเป็นการหมุนแทน 7. ฟลายวีล ( FLY WHEEL ) หรือล้อช่วยแรง เป็นตัวสะสมพลังงานการหมุนที่ถูกส่งมาจากเพลาข้อเหวี่ยง และช่วยให้เครื่องยนต์ตัดต่อกำลังต่อไป 8. เพลาลูกเบี้ยว ( CAM SHAFT ) ส่วนปลายสุดของแคมชาฟท์นั้นจะมีเฟืองเพลาลูกเบี้ยว ซึ่งจะถูกขับให้หมุนโดยเพลาข้อเหวี่ยง เฟืองของเพลาลูกเบี้ยวจะใหญ่กว่าเฟืองข้อเหวี่ยงสองเท่า จึงทำให้เพลาลูกเบี้ยวนั้นมีการหมุน 1รอบ แต่เพลาข้อเหวี่ยงหมุน 2รอบ หน้าที่ของแคมชาฟท์นั้นคือบังคับการปิด-เปิด ของลิ้นให้เป็นไปตามจังหวะของเครื่องยนต์ 9. อ่างนํ้ามันเครื่อง ( OIL PAN ) เป็นชิ้นส่วนที่ใช้เก็บนํ้ามันเครื่อง 10. ประเก็น ( GASKET ) เป็นตัวคั่นกลางระหว่างหน้าสัมผัสของโลหะเพื่อป้องกันการรั่ว ซึ่งส่วนใหญ่ที่รู้จักกันก็จะมี ประเก็นฝาสูบ,ประเก็นอ่างนํ้ามันเครื่อง เป็นต้น |