ระบบเบรค ABS คืออะไร ทำงานอย่างไร
ระบบเบรค ABS ย่อมาจาก Anti-Lock Brake System หรือระบบป้องกันการเบรคจนล้อล็อกตาย ซึ่งเกิดมาจากการแก้ไขปัญหาการเบรครถแล้วเกิดการลื่นไถล ระบบ ABS จะประกอบด้วยฟันเฟืองวงแหวนที่ติดตั้งอยู่กับเพลาหมุน และจะมีเซนเซอร์ติดตั้งอยู่ใกล้กับฟันเฟือง เมื่อล้อรถเริ่มหมุนฟันเฟืองจะหมุนตาม แล้วเซนเซอร์ก็จะทำการตรวจจับอัตราการหมุนของฟันเฟือง แล้วรายงานอัตราความเร็วดังกล่าว ไปให้ระบบ ABSซึ่งโดยปกติทั่วไปทุกล้อจะมีเซนเซอร์เพื่อตรวจสอบความเร็วติดอยู่ทุกล้อ โดย ABS จะสั่งการผ่านเซนเซอร์ตัวนี้ เพื่อให้ชุดปั้มเบรคทำงาน โดยจะมีการจับและปล่อยระหว่างจานเบรคกับผ้าเบรคที่ 16-50 ครั้ง/วินาที เพราะการที่จับกันเร็วอย่างนี้จะทำให้ผู้ขับสามารถควบคุมทิศทางของรถได้ในขณะที่เหยียบเบรคกระทันหันเพื่อหลบสิ่งกีดขวาง หรืออุบัติเหตุ หรือเบรคในระยะที่สั้นกว่าปกติ
ABS จะทำงานก็ต่อเมื่อ ผู้ขับเหยียบเบรคเร็วและแรงกว่าปกติ หรือประมาณ 80% ซึ่งระบบจะเริ่มทำงานเองโดยอัตโนมัติ เราจะรู้สึกว่าระบบเริ่มทำงานนั่นก็คือ จะเกิดเสียงดังครืดเข้ามาในห้องผู้โดยสาร เนื่องจากการควบคุมแรงดันน้ำมันของระบบ ABS ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ขับเกิดอาการตกใจได้ แต่ห้ามถอนน้ำหนักจากเบรค ให้ผู้ขับเหยียบเบรคค้างไว้แล้วหักหลบจากสิ่งกีดขวาง แล้วจึงค่อยถอนแรงเหยียบจากเบรค อีกข้อที่ห้ามทำคือการย้ำเบรค เพราะจะไปทำให้แรงดันน้ำมันจะลดลง จึงทำให้ระบบ ABS ไม่ทำงาน แต่จากที่มีการพัฒนาระบบ ABSมากขึ้น ทุกวันนี้จึงกลายมาเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญส่วนหนึ่งในรถยนต์ เช่น HONDA JAZZ, TOYOTA YARIS, MAZDA 2 ตัวใหม่ทั้งหลายก็มีติดตั้งมากับตัวรถ