แต่จุดขายของดีแมคใหม่ ไม่ได้อยู่ที่รูปทรงของตัวถังรถ เพราะอีซูซุเพิ่งปรับโฉมรถกระบะครั้งใหญ่ ชนิดที่เป็น major change ด้วยการออกรุ่นดีแมคมาได้เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น ดังนั้น การโต้กลับกับวีโก้ของโตโยต้า อีซูซุจึงชูจุดขายอยู่ที่เครื่องยนต์ใหม่ "อีซูซุ ไอ-เทค 3000 ดีดีไอ" ที่ทางอีซูซุภูมิใจนักว่าเป็นเครื่องยนต์ที่เพิ่งผ่านการออกแบบใหม่หมดทุกชิ้นส่วน เพื่อให้เป็น คอมมอนเรลอย่างแท้จริง
ตลอดเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงของงานเปิดตัวอีซูซุ ดีแมค รุ่นใหม่ ข้อมูลที่ถูกเน้นย้ำชนิดแทบจะเรียกได้ว่ายัดเยียดในการนำเสนอ คือประสบการณ์ในการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลของอีซูซุที่มียาวนานถึง 65 ปี ผลิตเครื่องยนต์ดีเซล มาแล้วกว่า 17 ล้านเครื่อง และเป็นผู้นำในการ พัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลระบบไดเรคอินเจคชั่น มายาวนานกว่า 20 ปี
สำหรับเครื่องยนต์ไอ-เทค (I-TEC) อีซูซุ ยืนยันว่าเป็นเครื่องยนต์ดีเซลที่ได้รับการออกแบบใหม่อย่างแท้จริง มิใช่การดัดแปลงนำระบบคอมมอนเรลมาใส่ในเครื่องรุ่นเดิม ซึ่งจะทำให้เครื่องยนต์มีคุณภาพต่ำ และการวางตำแหน่งชิ้นส่วนต่างๆ ไม่เหมาะสม
จุดเด่นของเครื่องรุ่นนี้อยู่ที่ระบบการจ่ายน้ำมัน แรงดันสูง "Super High-pressure" 180 MPa ซึ่งสูง ที่สุด พร้อมกับระบบจ่ายน้ำมันแบบ Just-on-Demand ที่ทำงานสัมพันธ์กับจังหวะรอบของเครื่องยนต์ และหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ที่ทนทานต่อแรงดันที่สูงกว่า
ตัวเครื่องยนต์ได้รับการออกแบบใหม่ให้มีความทนทานกว่าเดิมถึง 1.7 เท่า ด้วยเสื้อสูบแบบ Melt-in-Liner ที่ชุบแข็งแบบเหนี่ยวนำด้วยไฟฟ้า ซึ่งมาพร้อมกับฝาสูบอะลูมินั่ม อัลลอยด์ ซึ่งเป็นวัสดุพิเศษที่มีลิขสิทธิ์เฉพาะของอีซูซุ และระบบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ 2 ชั้น
อีกจุดหนึ่งซึ่งสำคัญ คือชุดขับเพลาลูกเบี้ยว พร้อมเฟืองและโซ่ (Timing Gear and Chain) ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทาน กว่า ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนโซ่ไทม์มิ่งตามระยะการบำรุงรักษา
สำหรับเครื่องยนต์ใหม่ที่นำมาใช้ ทำให้ราคารถกระบะดีแมคใหม่ ในรุ่น 3,000 ซีซี จะเพิ่มขึ้นจากเดิมเพียงคันละ 1,000-3,500 บาท เท่านั้น แต่เครื่องจะแรงกว่า โดยมีแรงม้าเพิ่มขึ้น 26 แรงม้า ในขณะที่ประหยัดน้ำมันลงจากเดิม 15%