นักวิชาการเตือนรัฐวางแผนรับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ ก่อนกระทบเศรษฐกิจมหภาคสูญเสียภาษีเงินได้มหาศาล
นักวิชาการเตือนรัฐวางแผนรับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ ก่อนกระทบเศรษฐกิจมหภาคสูญเสียภาษีเงินได้มหาศาล บีโอไอพร้อมส่งเสริมการลงทุนทุกรูปแบบ ด้านศูนย์วิจัยกสิกรชี้ปีหน้าเศรษฐกิจดียอดขายรถเพิ่ม
ธิบดี หาญประเสริฐ นายกสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยในการเสวนาทศวรรษใหม่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หัวข้อ “A New Vision for Mobility” ว่า รัฐบาลหันมาส่งเสริมการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงไปถึงเป้าหมาย แต่สิ่งที่ต้องการสะท้อนให้เห็นจากนี้จะเป็นภาพรวมที่รัฐต้องตระหนักและควรวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อไม่ให้ไทยก้าวก้าวผิดจังหวะกระทบเศรษฐกิจมหภาคและสูญเสียภาษีเงินได้
ทั้งนี้ หากพิจารณาผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค ปัจจุบันรัฐไทยเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2559 ประมาณ 7 แสนกว่าล้านบาท เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนอนุรักษ์พลังงานได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากไทยเน้นเรื่องการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง มาตรการทางด้านภาษีตรงนี้จะเป็นอย่างไรเพราะรัฐต้องสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ รวมทั้งยังไม่สามารถเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจน้ำมันอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์
“ผมไม่ได้คัดค้านเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า แต่ต้องการให้ภาครัฐช่วยวิเคราะห์การเกิดขึ้นในภาพรวม และช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้อยู่รอด เพราะที่ผ่านมาเราส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ปีละประมาณ 5.8 แสนล้านบาท หากรัฐก้าวผิดจังหวะ นักลงทุนต่างชาติอาจขยับไปลงทุนที่เวียดนามกับอินโดนีเซียแทน”
นอกจากนี้ ผลกระทบที่จะตามมาจะทำให้จำนวนการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลังการขายระบบดีลเลอร์ทั้งหมดจะล่มสลาย เพราะรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต้องมีการบริการ
โชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในส่วนของบีโอไอพร้อมสนับสนุนการลงทุนทุกรูปแบบ อาจแตกต่างตรงส่งเสริมชิ้นส่วนเก่าน้อยกว่าชิ้นส่วนใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา เทคโนโลยีไฮบริด มีบริษัทโตโยต้ารายเดียวที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ แต่ก็ยังมีเวลาถึงสิ้นปีนี้ ส่วนปลั๊กอินไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า ยังมีเวลาถึงปีหน้า
พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะดีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์โดยยังเป็นปัจจัยบวกมากกว่าปัจจัยลบ อัตราดอกเบี้ยน่าจะทรงตัวในระดับต่ำเป็นปีสุดท้าย และตลาดรถยนต์จะฟื้นตัวในส่วนของผู้มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่ยังเติบโตไม่ทั่วถึงทุกธุรกิจ
จาการสำรวจผู้บริโภคไทยสนใจรถยนต์ไฟฟ้าแต่ราคาหรือส่วนต่างกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต้องไม่ถึง 2 แสนบาท ซึ่งในส่วนนี้ไทยอาจได้รับผลกระทบจาก FTA ไทย-จีน ที่มีสิทธิ์นำเข้ารถโดยมีภาษีที่ 0%
ณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้ผลิตในตลาดปรับเปลี่ยนการผลิตสู่เทคโนโลยีใหม่
ซึ่งหากพิจารณาปริมาณการผลิตภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะประเทศจีน ผลิตรถเกินความต้องการอยู่มา ขณะที่ประเทศอังกฤษและอเมริกา ตัวเลขคนรุ่นใหม่เริ่มมีผูัทำใบขับขี่น้อยลง ความต้องการรถยนต์ของคนรุ่นใหม่ลดลงจากผลกระทบของเทคโนโลยี จึงเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นฐานการผลิต
“เราอาจต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของโลก ซึ่งอนาคตไทยอาจต้องปรับตัวใหม่ไม่ใช่เป็นเพียงฐานการผลิตเท่านั้น”