สำหรับประเทศไทย ณ ปัจจุบัน (พ.ศ.2550) ได้ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 (E10) ได้มาจากใช้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 91 (พิเศษ) จำนวน 90% ผสมกับ เอทานอล 10% จึงได้ E10 นั่นเอง อนาคตสำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ.2551 จะมี E20 ใช้ในประเทศไทย หลายคนยังวิตกว่าสามารถใช้งานเหมือนออกเทน 95 หรือ 91 ได้หรือไม่ บางคนก็บอกว่าใช้แล้วไม่แตกต่าง บ้างก็ว่าแตกต่าง แต่อย่างน้อยก็มีข้อดีมากกว่าข้อเสียอยู่ดี เช่น
1.ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ
2.ลดการขาดดุลการค้า ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
3.สนับสนุน และใช้ประโยชน์ต่อพืชผลทางการเกษตร
4.ประหยัดเงินค่าเติมน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะแก๊สโซฮอล์ ถูกกว่า (ประมาณ 4 บาท/ลิตร ธันวาคม 2550)
5.ใช้แล้วช่วยลดมลพิษไอเสียในอากาศ
6.ช่วยเรื่องโลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก
7.สามารถปลูกทดแทนได้ อย่างต่อเนื่องไม่มีวันหมด
ข้อดีที่กล่าวมานั้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และสิ่งแวดล้อม หลายๆประเทศในโลก ได้ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 (E10) ได้แก่ สหภาพยุโรป, อินเดีย, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, แคนนาดา, โคลัมเบีย, ปารากวัย, เปรู, แอฟฟิกา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และประเทศไทย ส่วนประเทศที่ใช้เอทานอล มากกว่า 10% ได้แก่ บราซิล, สหรัฐอเมริกา, แคนนาดา และสวีเดน
ประเทศที่มีการยกเลิกสารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สารเพิ่มค่าออกเทนชนิดอื่นมาทดแทน ซึ่งสารที่สามารถนำมาใช้ได้ และไม่มีผลกระทบต่อสมรรถนะของเครื่องยนต์ คือ สาร MTBE และ เอทานอล บริษัท รถยนต์ได้ทำการทดสอบแล้ว ไม่ส่งผลกระทบต่อท่อยาง หรือ พลาสติก ได้มีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ในระบบฉีดเชื้อเพลิงให้สามารถทนต่อสาร MTBE และ เอทานอลได้ ดังนั้นผู้ผลิตรถยนต์จึงได้ให้ความมั่นใจว่า รถยนต์ที่ผลิตมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1995 เป็นต้นมา สามารถใช้น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอลได้ ในประเทศไทยได้ใช้น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 95 (E10) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544
ข้อมูล การทดสอบแก๊สโซฮอล์ 95 เปรียบเทียบกับ น้ำมันเบนซิน 95 ของ ปตท. ดังนี้
1. จากการประเมินด้านสมรรถนะและมลพิษทางไอเสีย
•มลพิษไอเสีย, คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) ลดลงประมาณ 20%
•อัตราการสิ้นเปลืองของน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1-2 %
•กำลังรถยนต์ และอัตราเร่งไม่แตกต่างกัน
•การเร่งแซง แก๊สโซฮอล์ อาจจะดีกว่าเบนซินเล็กน้อย;
2. ทดสอบโดยการขับภาคสนาม ระยะ 100,000 กิโลเมตร
•ความสะอาดของเครื่องยนต์อยู่ในเกณฑ์ดี
•ผลการวิเคราะห์ของน้ำมันเครื่องใช้งานทุกๆ 10,000 กิโลเมตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ
•การประเมินชิ้นส่วนเครื่องยนต์ หลังวิ่งครบ 100,000 กิโลเมตร ไม่พบความผิดปกติด้านการสึกหรอของเครื่องยนต์ เช่น หัวฉีด, ท่อยาง, โอริง และพลาสติก
และนี่ก็เป็นผลของการทดสอบของ บริษัท ปตท. หลังจากการใช้ แก๊สโซฮอล์ 95 (E10) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สโซฮอล์ 95 (E10) ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง
สำหรับโครงการ แก๊สโซฮอล์ 95 (E20) ที่จะมีใช้ในประเทศไทยถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ขนาดปัจจุบันที่มีจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 95 (E10) ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่พอสมควร การที่เรียกว่า E20 หมายความว่าใช้น้ำมันเบนซิน 91 พิเศษ จำนวน 80% ผสมกับเอทานอล จำนวน 20% = 100% จึงได้ E20 นั่นเอง ตามที่มีข่าวทางการประกาศว่า ผู้ผลิตรถยนต์รายใด สามารถรองรับน้ำมันเชื้อเพลิง E20 ได้ สามารถลดภาษีอีก 5% รถยนต์หลายยี่ห้อก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงก็จะต้องเตรียมความพร้อมไปพร้อมๆ กัน ก็ต้องรอต่อไปว่าเครื่องยนต์เก่า สามารถรองรับกับ E20 ได้หรือไม่ คงจะต้องมีการใช้งานหรือทดสอบระยะหนึ่ง ว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้น คงต้องรอผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องประกาศอย่างเป็นทางการ